วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความจำที่หายไป (เมื่อสู่วัยชรา)



ความจำที่หายไป (เมื่อสู่วัยชรา)
            เราทุกคนคงเคยมีอาการหลงลืมบางครั้ง ลืมว่าวางกุญแจ หรือแว่นตาเอาไว้ที่ไหน บางครั้งก็ลืมชื่อหรือเบอร์โทรศัพท์คนคุ้นเคยไปเสียสนิท แต่ก็ไม่ใช่ว่าการหลงลืมเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะว่า “เราแก่ไปเสียแล้ว” ควรทำความเข้าใจให้ได้ว่าการลืมแบบธรรมดาอาจเกิดขึ้นได้จากความเครียด หรือมีสาเหตุจากเรื่องที่กำลังกวนใจอยู่ ต่างกับปัญหาความจำเสื่อมอย่างไร
อะไรคือลืมแบบธรรมดาและอะไรที่ไม่ใช่
            คนสูงอายุมักบ่นเรื่องหลงๆ ลืมๆ พยายามที่จะเล่าเรื่องภาพยนตร์ที่ได้ดูไปแต่ก็ลืมไปว่าชื่อเรื่องอะไร หรือบางครั้งรีบเดินเข้ามาในครัวอย่างรวดเร็วแล้วก็ลืมไปแล้วว่าจะเข้ามาทำอะไรเป็นต้น เหล่านี้เป็นเรื่องน่าหงุดหงิดแต่ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
            เมื่อเราแก่ตัวขึ้น สภาพจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการทำงานของประสาทที่มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อทำการเรียนรู้หรือเรียกข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นกลับขึ้นมาไม่ว่องไวและรวดเร็วเหมือนเมื่อก่อน และมักเข้าใจผิดว่าการเชื่องช้าเหล่านี้เป็นเพราะว่าความจำเรื่องเสื่อม
(dermentia) ซึ่งคนส่วนใหญ่ถ้าให้เวลาในการคิดมากขึ้น ข้อมูลและข่าวสารเหล่านั้นก็จะกลับคืนมาได้
การหลงลืมเพราะขบวนการชราหลีกเลี่ยงได้
            สมองมีความสามารถผลิตเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ได้ในทุกวัย ดังนั้นการหลงลืมไม่ได้เกิดจากอายุที่มากขึ้น หากเปรียบเทียบให้เข้าใจคือ เหมือนกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในร่างกาย ถ้าไม่ได้ใช้มันก็จะอ่อนแอลง ดังนั้นการดำเนินชีวิต วิธีการรักษาสุขภาพ และกิจกรรมประจำวันส่งผลกระทบอย่างมากกับสุขภาพของสมอง ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ยังมีหลายทางให้ใช้ปรับปรุงความว่องไวของความทรงจำ ป้องกันการหลงลืมและปกป้องเนื้อสมองสีเทาของเราไว้
            ไม่เพียงเท่านั้น ความสามารถหลายอย่างไม่ได้รับผลกระทบจากอายุที่มากขึ้น
            - ความสามารถในการทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำอยู่ประจำ และยังคงทำอยู่
            - ความฉลาด และรอบรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ของชีวิต
            - สามัญสำนึกที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม
            - ความสามารถในการให้เหตุผลและการตัดสินใจ
            คนส่วนใหญ่ความจำที่หายไปบางครั้งบางคราว ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่จะต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป
การหลงลืมแบบปกติที่มาพร้อมกับวัยชรา
            การหลงลืมแบบปกติที่ไม่ใช่สัญญาณของการเริ่มมีความจำเสื่อม
            - ลืมว่าวางของใช้ประจำตัวเอาไว้ที่ไหน
            - ลืมชื่อคนรู้จัก หรือเรียกคนที่มีความคล้ายคลึงกันสลับกัน
            - ลืมตารางนัดหมายเป็นบางครั้ง
            - มีปัญหาในการจำบางสิ่งบางอย่างที่เพิ่งอ่านไป หรือรายละเอียดของการสนทนา
            - จิตใจว้าวุ่นสับสนได้ง่าย
            - เดินเข้าไปในห้อง แล้วยืนงงว่าจะเข้ามาทำอะไร
            - ไม่เชิงว่าจะจำเรื่องนี้ไม่ได้ “มันติดอยู่ที่ริมฝีปากนี่แหละ”
อาการหลงลืมมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานหรือไม่
            อาการหลงลืมเพราะอายุมากขึ้นอาจมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไปบ้างก็ไม่ก่อปัญหาอะไร แต่ถ้าอาการมีมากขึ้นเรื่องๆ และส่งผลกระทบกับการทำงาน งานอดิเรก ความสัมพันธ์ทางสังคม และครอบครัว นั้นอาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดเป็นโรคความจำเสื่อมได้
            ความที่เปลี่ยนแปลงเพราะอายุมากขึ้น
            1. ยังสามารถทำกิจกรรมประจำได้ แม้จะหลงลืมไปบ้างบางคราว
            2. สามารถเรียกคืนหรืออธิบายลักษณะสิ่งที่หลงลืมนั้นได้ในภายหลัง
            3. อาจหลงทิศไปบ้าง แต่จำทางกลับบ้านของครอบครัวได้
            4. บางครั้งแม้หาคำพูดให้เหมาะสมไม่ค่อยถูก แต่ก็ยังคงสนทนาต่อไปได้
            5. มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้เหมือนที่เคยทำมา
            อาการที่อาจเป็นสัญญาณของความจำเสื่อม
            1. รู้สึกว่าการจัดการเรื่องที่เคยทำเป็นกิจวัตรเป็นเรื่องยากขึ้น หรือลืมว่าจะทำเรื่องนี้ งๆ ที่แต่ก่อนก็เคยทำมาแล้วหลายครั้ง
            2. ไม่สามารถเรียกคืนความจำ หรืออธิบายลักษณะบางสิ่งที่ลืมไปได้
            3. หลงทางไม่สามารถกลับบ้านของตัวเองได้ ไม่สามารถจดจำทิศทางได้เลย
            4. ลืมการใช้คำต่างๆ บ่อยครั้ง ใช้คำอย่างสับสนไม่ถูกต้อง พูดซ้ำคำหรือวลีเดิมๆ ในการสนทนา
            5. มีปัญหาในการตัดสินใจ อาจแสดงการตัดสินในหรือใช้คำพูดแย่ๆ ออกมา หรือปฏิบัติตัวในวงสังคมอย่างไม่เหมาะสม
                        หากว่าคนที่คุณรักมีสัญญาณเหล่านี้ออกมา อย่าเพิ่งรู้สึกโกรธหรืออารมณ์เสีย คุณจะต้องมีความอดทนอย่างมากและสังเกตอาการอย่างระมัดระวัง หรือปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขหรือชะลอปัญหาโดยเร็ว
ต้นเหตุที่ทำให้สูญเสียความจำ
            ● ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การใช้ยาหลายชนิดมีผลข้างเคียงทำให้เกิดปัญหาของความทรงจำ และหลงลืมได้ ซึ่งมักเกิดปัญหากับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุย่อยสลายและดูดซึมยาได้ช้ามาก ส่วนใหญ่เป็นยาทั่วไปที่ให้ผลกับความจำและการทำงานของสมอง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ ยาโรคความดันโลหิต ยาโรคข้ออักเสบ ยาแก้ปวด เป็นต้น
            ● โรคซึมเศร้า มักเกิดเป็นปัญหากับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่าง่ยิ่งถ้ามีสังคมและกิจกรรมน้อยกว่าที่เคยมีอยู่ในอดีต หรือมีการสูญเสียสิ่งสำคัญหรือสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตไป เช่น การเกษียณอายุการทำงาน, ตรวจพบว่ามีโรคที่ร้ายแรง, สูญเสียบุคคลที่เป็นที่รัก เป็นต้น
            ● การขาดวิตามิน บี 12 ซึ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับการทำงานของเส้นประสาทที่แข็งแรง การขาดวิตามิน บี 12 ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทอย่างถาวร ผู้สูงอายุมีอัตราการดูดซึมสารอาหารนี้ต่ำลง จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้รับวิตามิน บี 12 มากตามที่ร่างกายต้องการได้ ถ้าคุณทราบว่ามีอาการขาดวิตามิน บ 12 ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถพลิกฟื้นปัญหาความทรงจำให้กลับคืนมาได้
            ● ปัญหาต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม ถ้าขบวนการนี้ทำงานเร็วเกินไป จำทำให้รู้สึกสับสน และถ้าช้าเกินไปจะเฉื่อยชาและซึมเศร้า
            ● การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มมากเกินไปทำให้ให้เซลล์สมองสูญเสียความทรงจำ เพิ่มความเสี่ยงของโรคความจำเสื่อม
            ● การขาดน้ำ การขาดน้ำอย่างรุนแรงทำให้สับสน เซื่องซึม สูญเสียความจำ และอาการหลายอย่างที่คล้ายกับความจำเสื่อม การดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนที่รับประทานยาขับปัสสาวะ และยาถ่าย หรือคนที่เป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง หรือท้องร่วง
คราวหน้าเราจะมาดูเรื่องการป้องกันโรคสมองเสื่อมกันครับ ...
26 สิงหาคม 2556