วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

น้ำมันปลา ชนิด ไฮ-เอนด์ (hi-end) ประโยชน์ที่ไร้มลพิษจากทะเล



น้ำมันปลา ประโยชน์ที่ไร้มลพิษจากทะเล
        ประโยชน์ของกรดไขมันจำเป็นชนิดไม่อิ่มตัว โอเมก้า-3 ในน้ำมันจากปลาทะเลน้ำหนาว ซึ่งได้แก่ EPA ( eicosapentaenoic acid) และ DHA (docosahexaenoic acid) ในด้านการป้องกันและบรรเทาอาการโรคต่างๆ มากมาย อาทิเช่น โรคเกี่ยวกัวหัวใจ, โรคหลอดเลือด, สโตร็ค (stroke), เบาหวาน, ข้ออักเสบ, หอบหืด, โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง เช่น SLE เรื้อนกวาง แม้กระทั่งโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่นักวิจัยยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อรายงานผลที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์
        ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังแนะนำให้ทุกคนรับประทานปลาทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของหลอดเลือดและหัวใจ และลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว แต่หากได้อ่านงานการศึกษาเหล่านั้นอย่างละเอียดจะเห็นว่า การรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 ให้เกิดประโยชน์ตามผลงานการกับโรคหลอดเลือดหัวใจ, ข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคข้ออักเสบ และอื่นๆ จะแนะนำให้รับประทาน EPA และ DHA รวมกันให้ได้วันละ 2,000–5,000 มิลลิกรัม สมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ยังมีสุขภาพดีควรได้รับ EPA+DHA วันละ 650-1,000 มิลลิกรัม องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้รับประทานวันละ 300-500 มิลลิกรัม
        การรับประทานปลาแต่ละชนิดก็ให้ปริมาณ EPA/DHA แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ปลาแซลมอนธรรมชาติ กินแพลงตอนและสาหร่ายทะเลที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิด ALA ทำให้ปลากลุ่มนี้อุดมไปด้วยกรดไขมัน EPA และ DHA ส่วนปลาแซลมอนเลี้ยงได้กินอาหารจากฟาร์มที่ทำจากถั่วเหลือง, ข้าวโพด, รำข้าว ทำให้มีไขมันที่มีโอเมก้า-6 สูง
น้ำมันปลาแคปซูลชนิด โลว์-เอนด์ (Low-End grade) และ ไฮ-เอนด์ (Hi-End grade)
        น้ำมันปลาชนิดไฮ-เอนด์ หรือบางครั้งเรียกว่า “น้ำมันปลาเกรดยา” มีปริมาณ EPA และ DHA สูงกว่าชนิดโลว์-เอนด์ การรับประทานน้ำมันปลาชนิดโลว์-เอนด์ที่ 1 แคปซูลหนัก 1,000 มิลลิกรัม จะมี EPA อยู่ 180 มิลลิกรัม และ DHA อยู่ 120 มิลลิกรัม นอกนั้นเป็นกรดไขมันหลายชนิดและคอเลสเตอรอล หากว่าต้องการรับประทานตามที่นักวิจัยแนะนำเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย เพื่อให้ได้ EPA+DHA จำนวน 1,500 มิลลิกรัม ต้องรับประทานถึง 5 แคปซูล ซึ่งอาจทำให้เรอ หรือลมหายใจมีกลิ่นคาวปลา หรืออาจทำให้ท้องร่วงเกิดขึ้น แต่การรับประทานชนิดไฮ-เอนด์นั้น ซึ่งใน 1 แคปซูลมี EPA อยู่ 330 มิลลิกรัม และมี DHA อยู่ 220 มิลลิกรัม ก็สามารถรับประทานเพียง 3 แคปซูลเกินพอ
        ความแตกต่างที่สำคัญของเกรดไฮ-เอนด์ และโลว์-เอนด์ คือ ความบริสุทธิ์ของน้ำมันปลาจากสารพิษปนเปื้อน แม้องค์การอาหารและยา (อย.) จะกำหนดมาตรฐานแสดงค่าสิ่งปนเปื้อนที่ยอมรับได้ในผลิตภัณฑ์ทุกชนิดเอาไว้แล้ว แต่มาตรฐานของโรงงานที่ผลิดน้ำมันปลาเกรดไฮ-เอนด์ สามารถมีขบวนการผลิดที่สกัดเอาสารพิษออกไปได้มากกว่า แม้จะต้องสิ้นเปลืองวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น (1 แคปซูลของน้ำมันปลาชนิดไฮ-เอนด์ ใช้วัตถุดิบเป็น 3 เท่าของชนิดโลว์-เอนด์ 1 แคปซูล)
โลหะหนักและสารพิษในปลาทะเล
        ในท้องทะเลอุดมไปด้วยสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม, ยาฆ่าแมลงที่ไหลมาจากบนบก ปนมากับน้ำในแม่น้ำลำคลอง ในที่สุดก็จะจบลงที่ทะเล ทำให้ปลาและอาหารทะเลมีสารพิษเช่น สารปรอท, ตะกั่ว, PCBs, ไดออกซิน ปะปนอยู่ในเนื้อ ไขมัน และหนังของปลา และสัตว์ทะเล เมื่อเราบริโภคอาหารทะเลเข้าไปก็ได้รับสารพิษดังกล่าวเข้าไปด้วย
PCBs (polychlorinated biphenyls) เป็นสารเคมีที่ไม่มีสีไม่มีกลิ่น เป็นสารพิษตกค้างจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ถูกระงับใช้ในปี ค.ศ. 1976 เพราะมีความเป็นพิษต่อมนุษย์อย่างมาก แต่ก็ยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกนานหลายปี ในที่สุดความเป็นพิษของ PCBs ก็จะสิ้นสุดที่ทะเล
สารปรอท เมื่อไปอยู่ในน้ำหรือน้ำทะเลจะถูกแบคทีเรียที่ก้นทะเลเปลี่ยนให้กลายเป็น เมททิลเมอคิวรี่ (methymercury) ซึ่งถูกใช้เป็นอาหารในห่วงโซ่อาหารชั้นล่างสุดเหมือนๆ กับแพลงตอน ปลาเล็กปลาน้อยก็จะมากิน จากนั้นปลาใหญ่ก็มากินปลาเล็กอีก คนก็กินปลาต่อไปก็ได้รับสารพิษจากปรอทโดยทั่วหน้ากัน
การปรุงอาหารให้สุกไม่สามารถทำให้พิษเหล่านี้สูญหายไปได้ PCBs สะสมอยู่ในชั้นไขมันของปลาและอาหารทะเลทั้งหลาย หากจะรับประทานปลาก็ต้องลอกหนังและชั้นไขมันออกเพื่อให้สารพิษออกไปเสียบ้าง แต่ก็ทำให้โอเมก้า-3 หรือน้ำมันปลาก็ถูกลอกออกไปด้วยเช่นกัน ส่วนสารปรอทไม่สามารถขจัดออกได้อย่างง่ายเช่นกัน จะต้องใช้ขบวนการที่เรียกว่า “โมเลกุลาดิสทิลเลชั่น (molecular distillation)” ที่อยู่ในขบวนการทำอาหารเสริมน้ำมันปลา ขบวนการนี้เป็นกรรมวิธีที่ทำภายใต้สุญญากาศ ที่อุณหภูมิต่ำมากและใช้เอ็นไซม์ที่จะเอาโลหะหนัก, ไวตามินบางชนิด และไขมันอิ่มตัวออกไป เหลือไว้แต่กรดไขมันจำเป็นโอเมก้า-3 ที่ต้องการ

อ้างอิง : Joseph C. Maroon, M.D. and Jeffrey Bost, P.A.C. Fish oil the natural anti-inflammatory, Basic Health Publications, Inc.2006

เจ็บป่วยไม่มีความหมาย หากเข้าใจการป้องกัน ตอนที่ 4



ปัจจัยเกื้อหนุนอะไรบ้างที่ไปส่งเสริมให้อนุมูลอิสระถูกผลิตมากขึ้น
1.) ความเครียด
ความเครียดทางอารมณ์และกายทำให้อนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ความเครียดเพียงเล็กน้อยคงไม่ทำให้เพิ่มมาก แต่ความเครียดมากหมายถึง การตอบสนองทางอารมณ์มาก จะทำให้มีอนุมูลอิสระเพิ่มมาก ความเครียดทำให้มีการเผาผลาญพลังงานมาก อนุมูลอิสระจึงเกิดมาก

2.) มลพิษในอากาศ
เป็นภาวะที่เกิดมากในยุคปัจจุบัน มลภาวะในอากาศประกอบด้วย ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โอโซน (O3) โมเลกุลของไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon molecules) ต่างๆ ควันเขม่า ฝุ่นละเอียด คาร์บอนมอนน๊อคไซด์ (CO) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ

สารอันตรายในอากาศเหล่านี้เป็นผลผลิตก่อขึ้นโดยมนุษย์ อาทิเช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรม จากการเผ่าป่าไม้ จากการเผาขยะซึ่งมีขยะพลาสติกอยู่ด้วย

การใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าวัชพืช ฉีดทำให้กระจายปนเปื้อนในอากาศ ทั้งนี้ความทั้งการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้แพร่กระจายไปในอากาศ ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื้อรังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีควันเสียจากรถยนต์มาก และถ้าอยู่ใกล้ป่าที่มีการเผาทำลายจะยิ่งได้รับควันพิษเหล่านี้มาก พบว่า เมืองที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี จะมีสถิติการเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าเมืองอื่นที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มลภาวะในอากาศก่อให้เกิดโรค เช่น หอบหืด แพ้อากาศ หลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น ฝุ่นละอองในอากาศที่ทำให้เกิดโรคเฉพาะอาชีพนั้นๆ เช่น กรรมกรที่ทำเหมืองแร่, กรรมกรโรงงานอุตสาหกรรมได้รับสารเคมีต่างๆ หลายชนิด เช่นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ฯลฯ

3.) ควันบุหรี่
เราอาจคิดว่ามลพิษในอากาศที่กล่าวมามีอันตรายมาก แต่สำหรับผู้สูบบุหรี่แล้วควันบุหรี่ร้ายแรงยิ่งกว่า ดังที่ทราบกัน การสูบบุหรี่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคหลอดเลือดแข็ง และที่ร้ายแรงคือ มะเร็งปอด สารพิษที่มากับควันบุหรี่คือ นิโคติน น้ำมันดิน สารปนเปื้อนอื่นๆ เช่น สารเคมี สารโลหะหนัก นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้สูบเองแต่อยู่ในที่มีผู้อื่นสูบเป็นประจำและห้องอับ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เรียกกันว่า ผู้สูบบุหรี่มือสอง สารที่อยู่ในควันบุหรี่เหล่านี้ ก่อนให้เกิดอนุมูลอิสระและเป็นพิษ การงดสูบบุหรี่จะดีที่สุด ผู้ที่ยังงดไม่ได้ ก็ให้รับประทานผัก-ผลไม้มากๆ และรับประทานวิตามินซี ปริมาณสูงและแอนติออกซิแดนท์อื่นๆ จะช่วยได้

4.) น้ำและอาหารที่ปนเปื้อน
จากการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมและการเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างมาก สารเคมีต่างๆ ที่ใช้จะปนเปื้อนแทรกซึมสู่แหล่งน้ำ แม้แต่น้ำฝนก็ปนเปื้อนเพราะสารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อฝนตกลงมา ก็จะซะเอาสารเคมีปนเปื้อนไปด้วย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าน้ำที่เราบริโภคนั้นสะอาดแค่ไหน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสารเคมีผลิตขึ้นมากกว่า 60,000 ชนิด ปีละประมาณ 1,000 ชนิด เช่น สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อรา ที่ใช้ในการผลิตอาหาร สารเคมีเหล่านี้รวมทั้งโลหะหนัก เมื่อรับประทานเข้าไปก่อให้เกิดออกซิเดตีฟ สเตรส (oxidative stress) เป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ สารเคมีเหล่านี้ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารผลิตได้จำนวนมหาศาล แต่ต้องแลกกับสุขภาพของประชาชน สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยการปิ้ง ทอด เผา ทำให้บางส่วนอาจไหม้เกรียมหรือเกิดควันติดค้างไปกับอาหาร หรือการทอดในน้ำมันซ้ำหลายๆ ครั้งเหล่านี้ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง เมื่อรับประทานย่อมเป็นอันตรายเพราะเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดออกซิเดตีฟ   สเตรส การรับทานบ่อยครั้งจะมีอันตราย เพิ่มปัจจัยเสี่ยง จึงควรหลีกเลี่ยง การดื่มน้ำสะอาดจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ผักต้องล้างให้ดีก่อนบริโภค ล้างในน้ำด่างหรือล้างในน้ำที่ผสมน้ำยาล้างผักจะช่วยได้

5.) ยาและรังสี
ยาทุกชนิดที่เรารับประทานส่วนใหญ่คือ สารเคมี และเป็นสารแปลกปลอม ซึ่งร่างกายต้องย่อยสลายและขจัดออกไป จึงไปทำอันตรายต่อขบวนการย่อยสลายที่ตับและส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เป็นการไปเพิ่มออกซิเดตีฟ สเตรส เพิ่มอนุมูลอิสระ ปัจจุบันทั่วโลกใช้ยาจำนวนมาก จำนวนหนึ่งเกิดผลข้างเคียงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

รังสีซึ่งในในการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีคุณสมบัติทำให้มีการแตกตัวของไอออน (ion) ของธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อ-เซลล์ (ionization) มีอันตรายทั้งต่อเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นการทำให้เกิดออกซิเดตีฟ สเตรส ต่อเซลล์ เกิดอนุมูลอิสระนอกจากนี้เรายังได้ใช้เอกซเรย์และสารกัมมันตรังสีในการวินิจฉัยและรักษาโรค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องป้องกันอย่างดี และไม่ใช้เกินความจำเป็น


6.) รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ (Ultraviolet sunlight)
แสงอาทิตย์มีประโยชน์มหาศาล เราต้องการแสงอาทิตย์เพื่อกระตุ้นวิตามิน ดี ซึ่งจำเป็นในการทำให้กระดูกและฟันมีสุขภาพและช่วยป้องกันมะเร็ง แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็จะเป็นอันตราย โดยเฉพาะคนผิวขาว สำหรับคนผิวสี เช่น คนไทย เม็ดสีในผิวหนังเมลานิน (melanin) ช่วยป้องกันได้บ้าง เนื่องจากบรรยากาศระดับสูงมีโอโซน (ozone) ช่วยกั้นและลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งถ้ามีปริมาณมากจะมีอันตรายเพราะจะไปลดภูมิคุ้มกันของเซลล์ (cellular immunity) ลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ปัจจุบันชั้นโอโซนถูกทำลายไปมากทำให้บางลงและมีรูโหว่ ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (chloro-fluorocarbons) จากการใช้สเปรย์ชนิดต่างๆ และใช้ในการทำความเย็น เช่น ฟรีอ้อน (Freon) รั่วซึมออกมาลอยไปสู่บรรยากาศทำลายชั้นโอโซน รังสีอัลตราไวโอเลตเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในคนผิวขาวจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency) ประมาณว่า ชั้นบรรยากาศโอโซนจะลดลง 40% ในปี 2075 ส่งผลให้มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น 154 ล้านราย และเสียชีวิต 3.4 ล้านรายทั่วโลก

แสงอาทิตย์เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดต้อกระจก รังสีอัลตราไวโอเลตบี (ultraviolet B, UVB) เป็นตัวสำคัญ แต่รังสีอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) ก็มีส่วนด้วย รวมทั้งแสงแถบสีน้ำเงินที่ตามมองเห็น (visible blue light) เมื่อได้รับปริมาณที่สูงทำให้อัตราการเกิดต้อกระจกเพิ่มขึ้น 60% ในปัจจุบันมีคนเป็นต้อกระจกทั่วโลก 20 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดครึ่งหนึ่งของตาบอดทั้งหมด นอกจากนี้ UV ยังทำอันตรายต่อประสาทรับภาพเรตินา (retina) อีกด้วย ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดนานๆ แสงแดดตอนเช้าไม่แรง ได้รับในช่วงเวลาสั้นๆ จะมีประโยชน์ หากต้องถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานานๆ ควรป้องกันด้วยร่มที่ป้องกันรังสี UV ใช้แว่นกันแดดเสมอ ใช้ครีมป้องกันรังสี UV ทาผิวหนังเมื่อต้องถูกแดดจัดเป็นเวลานาน นอกจากนี้ การรับประทานแอนติออกซิแดนท์จะช่วยป้องกันได้

7.) โลหะที่เป็นพิษ (Toxic metals)
สารโลหะหนักนั้นปนเปื้อนดินและน้ำโดยทั่วจากการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ในประเทศไทยจะพบปริมาณโลหะหนักอยู่ในดินและน้ำ ได้แก่ สารตะกั่ว ทองแดง โคบอลท์ ปรอท อะลูมิเนียม และแคดเมียม ฯลฯ สารเหล่านี้ยังมีอยู่ในเครื่องสำอาง อุปกรณ์ทำครัว น้ำยาซักผ้า สีบางชนิด พลาสติก ยาขัดมัน สารละลายและสารอุดฟัน (รุ่นเก่า) สารเหล่านี้มีพิษมากเพราะมันสะสมตกค้างอยู่ในร่างกาย เมื่อรับเข้าไปจะไปยึดติดกับเนื้อเยื่อ อวัยวะต่างกันไป เช่น ปรอทเข้าไปยึดกับเซลล์ประสาทส่วนกลาง อะลูมิเนียมที่เซลล์สมอง และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s disease) ตะกั่วไปทำลายสมองทำให้ปัญญาต่ำ เป็นโรคปัญญาอ่อนและยังไปยึดที่กระดูกยับยั้งการเติบโต แคดเมียมจะไปแทนที่สังกะสีซึ่งมีประโยชน์ และเก็บไว้ในร่างกายที่ตับและไต ทำให้ปริมาณลดลง เป็นการไปกดภูมิคุ้มกัน แคดเมียมในควันบุหรี่ ปนเปื้อนในข้าว กาแฟ ชา เครื่องดื่มหลายชนิด สารกำจัดแมลงในพลาสติก ดินและน้ำดื่ม เพื่อสุขภาพจึงควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้สารเหล่านี้ และมีอีกวิธีหนึ่งคือการได้รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยต่อต้านและขจัดโลหะหนักได้ ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกัน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่ขจัดโลหะแต่ละชนิดโดยย่อดังนี้

-      ซิสเตอีน (cysteine) จะรวมกันทองแดงในเลือด และดึงโลหะหนักออกจากอวัยวะ
-      ซีลีเนียม กลูตาไธโอน และเมไธโอนีน (selenium, glutathione & methionine) ช่วยสลายพิษจากโลหะ วิตามินอีช่วยส่งเสริมซีลีเนียมในการสลายพิษ
-      กระเทียม จะจับตัวกับโลหะพิษเพื่อขจัดออกจากร่างกาย
-      แคลเซียม ช่วยป้องกันการจับตัวของตะกั่วในร่างกายและป้องกันการดูดซึมของอะลูมิเนียม
-      วิตามินซีในขนาดสูง ช่วยขจัดพิษและขับออกจากร่างกาย
-      สังกะสี ป้องกันการเพิ่มของแคดเมียม

8.) การละเมิดกฎธรรมชาติ ได้แก่

-      การรับประทานอาหารหรือปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า อาหารที่รับประทานเป็นต้นเหตุของการเสียสุขภาพและโรคเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดแข็ง เบาหวาน กระดูกพรุน หรือ มะเร็ง ก็ตาม ควรเลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูง โปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก และอาหารหวานจัด คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ไม่รับประทานอาหารพร่ำเพรื่อ ประการสำคัญ อาหารที่รับประทานสัดส่วนของอาหารชนิดต่างๆ ควรเหมาะสม และไม่ขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น วิตามิน กรดไขมันจำเป็นและสารต้านอนุมูลอิสระ
-      การรับรู้สัมผัสไม่ถูกต้อง คือ การรับรู้สัมผัสทั้งห้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่ไม่ถูกต้อง เพราะอายุรเวท (การแพทย์แผนโบราณของอินเดีย) ถือว่า การรับรู้สัมผัสนั้นให้พลังงานอย่างละเอียดไปเสริมสร้างเนื้อเยื่อแห่งร่างกาย ชีวิต และจิตวิญญาณ เช่น การฟังดนตรีเสียงดัง จังหวะรุนแรง ฯลฯ เป็นผลเสียต่อสุขภาพ
-      การละเมิดระดับปัญญา ความคิด การพูด และการกระทำไม่ดี ความโลภ อิจฉา ความโกรธ ความกลัว หลง ความวิตกกังวล ฯลฯ เป็นผลให้เสียสุขภาพ
-      การละเมิดเกี่ยวกับเวลา ในข้อนี้มีพื้นฐานจากการที่ธรรมชาติปรับเปลี่ยนไปตามการโคจรของดวงดาว ยังผลให้โลกเปลี่ยนแปลง เช่น กลางวัน กลางคืน และฤดู บรรยากาศ (ธรรมชาติ) ของโลกก็เปลี่ยนไปด้วย รวมทั้งคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ขบวนการชีวเคมีในร่างกายของเราก็ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติตน พฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของเราที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จึงเป็นการรักษาสุขภาพ

การละเมิดกฎธรรมชาติทั้ง 4 ข้อนั้น เป็นสาเหตุให้การดำเนินไปของร่างกาย อวัยวะ เซลล์ บกพร่องผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับโมเลกุลและเซลล์จนถึงอวัยวะในระบบ ทำให้ร่างกาย อวัยวะ เซลล์ได้สูญเสียความสามารถในการดำเนินไปให้ได้ผลดีตามธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์กำหนดไว้ให้ อายุรเวทเรียกว่า ประเกียอะปะราดห์ (pragya-aparadh) แปลได้ว่าเกิดผิดพลาดที่ภูมิปัญญา ตามธรรมชาติแล้วเซลล์และอวัยวะได้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสมอยู่เสมอเป็นไปตามกฎธรรมชาติ (natural law) หรือกลมกลืนกับกฎธรรมชาติที่ควบคุมจักรวาลซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่ง เราได้รับการออกแบบให้มีชีวิตดำเนินไปตามระเบียบที่สมบูรณ์แบบ ก่อเกิดพลังงานภายในอย่างมากมายและเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์

9.) การออกกำลังกายมากเกินไป (Excessive exercise)
การออกกำลังกายเป็นดาบสองคม อย่าคิดว่าการออกกำลังกายอย่างเดียวนั้นเพียงพอที่จะป้องกันอนุมูลอิสระหรือมีสุขภาพได้ แต่ในทางกลับกัน การออกกำลังกายกลับไปเพิ่มระดับของอนุมูลอิสระได้เช่นเดียวกัน น.พ.เคนเนธ คูเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแอโรบิคเอกเซอร์ไซส์ (aerobic exercise) และเวชศาสตร์ป้องกันได้เน้นว่า การออกกำลังกายมากรุนแรงเกินไปทำให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจจู่โจม (heart attack) สโตรค (stroke) และมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อทำต่อเนื่องเป็นปีๆ ทำให้เป็นหวัด หรือเจ็บคอ คออักเสบได้ง่าย ดังเราจะเห็นผู้ออกกำลังกายมาก เช่น นักวิ่งมาราธอนนานๆ มีหน้าตาร่างกายอิดโรย ดูแกร่งแต่หน้าแก่

ดังนั้น ควรออกกำลังกายพอประมาณ และรับประทานแอนติออกซิแดนท์เสริม โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังมาก

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
อาจารย์ ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน
ประธานมูลนิธิต่อต้านโรคมะเร็ง ภาคเหนือ
อาจารย์พิเศษคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รังสีแพทย์ โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่

เจ็บป่วยไม่มีความหมาย หากเข้าใจการป้องกัน ตอนที่ 3



สายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (ROS) และสารต้าน
1.) ซุปเปอร์ออกไซด์ (superoxide O2)
การที่ร่างกายใช้ออกซิเจน อนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์จะเกิดขึ้น มันก็คือโมเลกุลของออกซิเจนที่มีอิเล็กตรอนมากขึ้น 1 ตัว ซึ่งทำให้มันเป็นอนุมูลอิสระ ซุปเปอร์ออกไซด์เป็นอนุมูลอิสระที่พบได้มากที่สุด ปกติซุปเปอร์ออกไซด์จะถูกจับกิน (scavenger) โดยซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส (superoxide dismutase, SOD) อย่างรวดเร็ว เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่ง (catalizing) ปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลของซุปเปอร์ออกไซด์ 2 ตัว และโมเลกุลของไฮโดรเจน 2 ตัว แต่ถ้าขบวนการขจัดพิษนี้เกิดขึ้นได้ไม่เร็วพอ (เป็นเพราะ SOD มีไม่เพียงพอ) ซุปเปอร์ออกไซด์จะพยายามจับอิเล็กตรอนที่มีอยู่ใกล้เคียง เป้าที่ใกล้ที่สุดคือผนังของเซลล์ ถัดมาคือไมโตคอนเดรียและโครโมโซม (chromosome, DNA) นอกจากฆ่าเซลล์แล้วหรือยังทำให้เซลล์กลายพันธุ์เกิดเป็นมะเร็งได้

SOD ต้องการแร่ธาตุ ทองแดง (copper) สังกะสี (zinc) และแมกนีเซียม (magnesium) เพื่อผลิตและทำหน้าที่ได้ดี

2.) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide, H2O2)
ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์เป็นผลผลิตที่เกิดจากการจับกินอนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์โดย SOD ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ไม่มีปฏิกิริยารุนแรงเท่าซุปเปอร์ออกไซด์ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จะถูกทำลายได้ด้วยเอนไซม์คะตาเลส หรือ กลูตาไธโอน เปอร๊อคซิเดส (catalase or glutathione peroxidase) คะตาเลสทำปฏิกิริยาในน้ำ ส่วนกลูตาไธโอนทำปฏิกิริยาในไขมัน เมื่อทำปฏิกิริยาเสร็จ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำและออกซิเจน (H2O2  -->  H2O + O2)

ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์มีความสามารถทำลาย ดีเอนเอ ซึ่งมีข้อมูลที่จะสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม เมื่อถูกทำลายจะเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) มีโอกาสเกิดมะเร็งได้ ปฏิกิริยาที่เกิดจากไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์เรียกว่า เปอร๊อคซิเดชั่น (peroxidation) ที่มีอันตรายมาก คือ ที่เกิดกับไขมัน (lipid peroxidation)

ซีลีเนียม (selenium) และ แอล ซีสเตอีน (L-cystein) เป็นสารที่จำเป็นในการสร้างและเสริมสภาพกลูตาไธโอน

3.) อนุมูลไฮดรอคซีล (Hydroxyl radicals, OH*)
ในกรณีที่กลูตาไธโอน หรือ ซีลีเนียม ที่จะนำไปผลิตเป็นแอนติออกซิแดนท์ เอนไซม์ (antioxidants enzymes สารต้านอนุมูลอิสระ) มีไม่พอทำหน้าที่ได้ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ไม่ถูกเปลี่ยนเป็นน้ำและออกซิเจน อนุมูลไฮดรอคซีล (hydroxyl radicals) ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่มีพิษมากที่สุดมีปฏิกิริยาสูงมาก มันจะไปขโมยอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่ใกล้ที่สุด แม้จะมีปฏิกิริยาสั้นมากเพียงหนึ่งในพันวินาที แต่เป็นอันตรายต่อเซลล์มากอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนว่าการเกิดปฏิกิริยาในช่วงที่สั้นมากไม่น่าจะมีอันตรายนัก แต่ในความเป็นจริง ไม่มีเซลล์ใดที่สูญเสียไฮโดรเจนได้ เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันตรายอย่างมาก และยิ่งไม่เกิดเพียงโมเลกุลเดียว แต่เป็นล้านๆ โมเลกุลจะอันตรายแค่ไหน

งานวิจัยได้พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่จะไปต้านอนุมูลตัวนี้ คือ เมไธโอนีน รีดัคเตส (methionine reductase), อามิกดาบิน (amygdalin) หรือ วิตามิน บี17-ลีทริล (vitamin B17-laetrile) และไพรแอนโธไซยานิดินส์ (proanthocyanidins) ที่สกัดได้จากเมล็ดองุ่นและเปลือกสน

จะเห็นได้ว่า สายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยาจะเกิดเรียงตามลำดับจากซุปเปอร์ออกไซด์ สู่ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์และอนุมูลไฮดร๊อคซีล

4.) ซิงเกลทออกซิเจน (singlet oxygen, 1O2)
ออกซิเจนนั้นมีมากกว่ารูปแบบเดียวที่เรามักรู้จักกัน O2 มีประโยชน์มาก แต่ซิงเกลทออกซิเจน 1O2 นั้นมีอันตรายมาก ออกซิเจน O2 ซึ่งมั่นคงนั้นเมื่อถูกรังสีแสงอาทิตย์จับทางเคมีอาจแตกออก กลายเป็นซิงเกลท ออกซิเจน 1O2 ได้ ซึ่งมีอันตรายต่อข้อ เกี่ยวเนื่องกับการอักเสบ (arthritis) มีอันตรายต่อตา ทำให้เกิดต้อกระจก และต่อจอรับภาพของตา (retina) ทำให้เกิดเสื่อมสภาพ (macular degeneration)

สารต้านอนุมูลอิสระที่ขจัดซิงเกลทออกซิเจน ได้แก่ สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) เช่น เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) และไลโคพีน (lycopene) นอกจากนี้ วิตามิน อี และแม้แต่คอเลสเตอรอล สามารถขจัดซิงเกลทออกซิเจนได้

สารที่ต้านออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (ROS) หรือต้านอนุมูลอิสระทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น เราเรียกว่า สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ แอนติออกซิแดนท์ (antioxidants)

ความเสียหายจากออกซิเดชั่น ออกซิเดตีฟ สเตรส (Oxidative stress)
โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพส่วนใหญ่นั้นสัมพันธ์กับความเสียหายของเซลล์อนุมูลอิสระ เช่น โรคข้อเสื่อม ต้อกระจก เบาหวาน หลอดเลือดแข็ง โรคสมองเสื่อม มะเร็งเกือบทุกชนิด ฯลฯ และรวมทั้งทำให้เกิดการแก่ชรา

อนุมูลอิสระไปทำร้ายส่วนต่างๆ ของเซลล์ ทำให้เกิดความเสียหายคือ
1.) ผนังเซลล์ (cell wall, plasma membrane) ปกติผนังเซลล์มีรูพรุนซึ่งเป็นช่องทางให้อาหารเข้าสู่เซลล์ และถ่ายเทของเสียออกไป อนุมูลอิสระทำให้ผนังเซลล์ฉีกรั่วหรืออุดตันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทำให้มันตายก่อนเวลาอันควร

2.) ดีเอ็นเอ (DNA) เมื่ออนุมูลอิสระเข้าไปภายในเซลล์สู่นิวเคลียส ชอบที่จะทำอันตรายดีเอ็นเอของยีน ซึ่งเป็นหน่วยเก็บข้อมูลควบคุมทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้มันสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเดิม โดยปกติเซลล์ เมื่อหมดอายุ ร่างกายก็จะสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ตลอดเวลา อนุมูลอิสระไปทำให้ข้อมูลการควบคุมในยีนสับสน (corss-linking damage) ทำให้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม เกิดการกลายพันธุ์ได้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็ง

3.) ไขมันในเลือดและเนื้อเยื่อ (blood and tissue lipids) ด้วยขบวนการ lipid peroxidation ไขมันในเลือด และในเนื้อเยื่อจะถูกทำร้ายด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ หรือ เปอรอคซีไนเตรท (hydrogenperoxide or peroxynitrate) ทั้งสองนี้เป็น ROS เช่น ไขมันความหนาแน่นต่ำ (low density lipoprotein cholesterol, LDL) ในเลือด เมื่อถูกทำให้เกิดความเสียหายด้วยอนุมูลอิสระเกิดออกซิเดชั่น (oxidized LDL) เป็นจุดเริ่มขบวนการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (artherosclerosis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและสโตรค

4.) ไมโตคอมเดรีย (mitochondria) ไมโตคอนเดรียเป็นหน่วยของเซลล์ที่ผลิตพลังงาน อนุมูลอิสระทำให้ปฏิกิริยาของมันถูกขัดขวาง เซลล์จึงขาดพลังงานที่จะทำหน้าที่ เมื่อเซลล์เหล่านี้ที่มีพลังงานต่ำมีมากทั่วร่างกาย จะทำให้อ่อนเพลียตลอดเวลา และต่อต้านโรคได้ไม่ดี

5.) ไลโซโซม (lysosomes) ไลโซโซมเป็นหน่วยของเซลล์ที่ผลิตเอนไซม์ที่อยู่ภายในเซลล์ ได้รับการออกแบบให้ย่อยทุกสิ่งยกเว้นผนังที่หุ้มมัน เมื่อมันถูกทำให้เสียหายด้วยอนุมูลอิสระที่ทำให้ผนังห่อหุ้มมันแตก มันจะออกมาย่อยกินภายในเซลล์และสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระตลอดทางที่มันผ่านไป

ความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระจะสะสมมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์แต่ละเซลล์ อวัยวะ และร่างกายของเราจะอ่อนแอลง เกิดโรคและความชราตามมา

ร่างกายมนุษย์ใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิตในขบวนการที่เรียกว่า เมตาโบลิสซึม” (metabolism) หรือการสันดาป หรือ เผาเป็นพลังงาน ซึ่งเกิดอยู่ตลอดเวลา ผลผลิตพลอยได้ที่เป็นสายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (ROS) จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั่วร่างกาย นั่นคือ อนุมูลอิสระ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา หรือเป็นธรรมชาติที่จะต้องมีสิ่งนี้เกิดขึ้นทุกลมหายใจ แต่ร่างกายมนุษย์ได้ถูกออกแบบมาให้ขจัดสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติได้ด้วยแอนติออกซิแดนท์ จะเป็นไปได้มากน้อยมีประสิทธิภาพแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเราได้เตรียม (รับประทาน) สารอาหาร เกลือแร่ วิตามิน และอื่นๆ ที่ต้องการให้ดีพอเพียงหรือไม่