วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เจ็บป่วยไม่มีความหมาย หากเข้าใจป้องกัน ตอนที่ 1



ต้นตอสุขภาพ
ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ว่า การแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก รุดหน้าอย่างก้าวกระโดดเทคนิคในการรักษาการเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด อุปกรณ์ทดแทนเสมือนอะไหล่ ขบวนการวินิจฉัย ยาเวชภัณฑ์และอื่นๆ ได้พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้สามารถวินิจฉัยและการรักษาโรคมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาระดับหนึ่ง ในขณะที่องค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ในมิติทางชีวเคมีและฟิสิกส์ได้ลงลึกไปถึงระดับเซลล์ โมเลกุลและต่ำกว่าโมเลกุลทำให้เข้าใจกลไกการทำหน้าที่และดำเนินไปของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเป็นอย่างดี รวมทั้งกลไกการเกิดโรคและการเสื่อมสภาพด้วย องค์วิชาความรู้เหล่านี้อาจมีมากกว่าวิชาแพทย์เสียอีก เพราะเป็นความรู้พื้นฐานที่ทำให้วิชาแพทย์งอกงามเจริญได้ เมื่อเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้เข้าใจการเกิดโรค เราก็สามารถนำมาใช้ป้องกันและบำบัด รักษาโรคที่พื้นฐานได้ ในขณะที่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือสัจธรรมทางด้านวัตถุสามารถเข้าใจและอธิบายลึกได้ระดับอนุภาค-คลื่นได้ด้วยควอนตัมฟิสิกส์ ซึ่งกล่าวว่า สสารและพลังงานสับเปลี่ยนกันได้ที่ระดับละเอียดที่สุด แต่ดูเหมือนว่า สสารและพลังงานสับเปลี่ยนกันได้ที่ระดับละเอียดที่สุด แต่ดูเหมือนว่า การแพทย์กระแสหลักยังจะยึดติดกับวิทยาศาสตร์จักรกลหรือวิทยาศาสตร์แบบ  นิวตันอยู่ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ใช้หลักประจักษ์นิยาม กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏหรือที่เราสัมผัสได้เท่านั้นที่มีจริง ที่เป็นจริง ถ้ารับรู้ไม่ได้สิ่งนั้นก็ไม่มี และความจริงคือสิ่งที่พิสูจน์ได้ทำซ้ำได้ อะไรที่นอกเหนือไปจากนี้ ก็ไม่ให้ความสนใจ ให้คุณค่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญหรือไม่มี แม้การแพทย์กระแสหลักเริ่มจะปรับเปลี่ยน แต่อิทธิพลและความเชื่อในทฤษฎีวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน หรือวิทยาศาสตร์จักรกลยังฝังแน่นอยู่ยากที่จะลบออกได้ ฉะนั้น เมื่อยังเชื่อในรูปแบบของวิทยาศาสตร์นิวตันอยู่ บริบทอื่นๆ นอกเหนือจากนี้จึงยังไม่ยอมรับว่าเป็นจริง หรือไม่สนใจโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เป็นศาสตร์ที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เมื่อกรอบความคิดส่วนใหญ่ยังยึดติดกับความเชื่อหรือทฤษฎีวิทยาศาสตร์แบบนิวตันอยู่ องค์ความรู้พื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวเคมีฟิสิกส์หรือแม้แต่ทางจิตวิญญาณ จึงถูกจำมาใช้น้อยมาก อีกประการหนึ่ง องค์ความรู้ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ต้องการรวบรวมและบูรณาการทดสอบก่อนนำมาปฏิบัติในเชิงการแพทย์ได้ ก็หาผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ยาก

ประการสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้องค์ความรู้ดังกล่าวถูกนำมาใช้น้อยมากเพราะการยึดติดอยู่ในความเชื่อเดิมๆ อยู่ นั่นคือ ยังยึดและเชื่อใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1.)   ทฤษฎีการเกิดโรคว่ามาจากเหตุภายนอก และ
2.)   การักษา โดยการใช้ยาเป็นหลัก (pharmaceutical based)

การยึดติดว่าโรคเกิดจากเหตุภายนอก
การยึดหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเหนียวแน่น ทำให้บดบังมิติอื่นเสียหมด ทำให้เกิดการละเลยในความเป็นจริงทั่วๆ ไป สิ่งที่เราไม่รู้นั้นมีมากกว่าที่เรารู้ ประกอบการใช้ตรรกะแห่งเหตุผลหรือข้อมูลประจักษ์ (evidence based) ในการพิจารณาตัดสินความถูก ความผิด หรือความเหมาะสมนั้นเป็นวิธีการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติ ข้อมูลที่นำมาพิจารณานั้นเป็นข้อมูลที่รู้ หรือตรวจพบด้วยวิธีการที่มี่อยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่รู้หรือตรวจไม่พบจึงไม่สามารถนำมาเป็นส่วนในการพิจารณาได้เพราะไม่เป็นที่ประจักษ์ วิธีการนี้ จึงมีข้อจำกัดทำให้ได้ความจริงเฉพาะสิ่งที่รู้ หรือที่เอาข้อมูลมาพิจารณาเท่านั้นเอง สิ่งที่ไม่รู้จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่มี แท้จริงแล้ว ข้อมูลพื้นฐานที่พิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มีอยู่มากมาย แต่ถูกละเลยไม่ได้นำมาพิจารณา จึงกลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่ ไม่มีข้อมูล ทำให้การแพทย์กระแสหลัก ไม่ปรับเปลี่ยนได้ดีพอ

คิดแยกส่วน รักษาที่ปลายเหตุ
การยึดข้อมูลประจักษ์ประกอบกับการคิดแยกส่วน ทำให้ได้ความจริงไม่หมด เช่น ดังกรณีของโรคแผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (peptic ulcer) แต่เดิมเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากความเครียด รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ภาวะมีกรดมากในกระเพาะอาหาร และอื่นๆ ต่อมาในระยะหลังพบมีเชื้อโรคชนิดหนึ่ง เฮลิโคแบคเตอร์ ไพรอรี่ (Helicobacter pylori) จึงมุ่งประเด็นไปว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อโรค หรือกรณีมะเร็งปากมดลูก เมื่อมีการตรวจพบเชื้อโรคฮิวแมนแพปพิโลมาไวรัส (HPV) หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดหูด ร่วมกับการเกิดมะเร็ง ก็มุ่งประเด็นไปว่า เชื้อโรคตัวนี้เป็นสาเหตุ การใช้ตรรกะเช่นนี้ก็คือใช้หลักเกณฑ์ทฤษฎีเชื้อโรคนั้นเอง (จะกล่าวถึงภายหลัง) นั่นคือ การเกิดโรคมาจากสาเหตุภายนอกจากเชื้อโรค ซึ่งก็เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งและอาจเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากใช้ทฤษฎีองค์รวม หรือ การสมดุลของร่างกาย อาจอธิบายการเกิดโรคทั้ง 2 ข้างต้นได้ว่า เนื่องจากร่างกายโดยเฉพาะอวัยวะส่วนนั้นอยู่ในสภาพไม่สมดุลจึงอ่อนแอ ทำให้เชื้อโรคซึ่งอาจอาศัยอยู่ก่อนแล้วเติบโตได้อย่างดีจึงเกิดโรคตามมา หากเรายึดในหลักการของทฤษฎีองค์รวม การบำบัดรักษาและโดยเฉพาะการป้องกันจะมุ่งเน้นไปที่ ร่างกาย (host, terrain) บำรุงรักษาให้แข็งแรงและสมดุลเป็นพื้นฐาน สาเหตุจากภายนอกหรือเชื้อโรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นั่นคือ มุ่งไปที่ต้นเหตุพื้นฐาน ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ ดังจะยกกรณีตัวอย่างของโรคอีกหนึ่งโรคคือ หลอดเลือดแข็ง ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจโคโรนารี่ (coronay heart disease) และหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก หรือที่เรียกว่า สโตรค (stroke) นั้น ในรายที่ไม่ต้องผ่าตัดการรักษาทางยาจะเน้นไปที่ให้ยาขยายหลอดเลือด ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยาลดไขมันในเลือดหรือยาลดความดัน เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ปลายเหตุ ส่วนที่ต้นเหตุที่มาจากภาวะหลอดเลือดแข็งที่ทำให้ตีบตันหรือแตกนั้น การแพทย์กระแสหลักเกือบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้ใส่ใจบำบัดรักษาให้ ฟื้นคืนสภาพ แต่อย่างใด น่าจะเป็นเพราะเชื่อว่าหลอดเลือดแข็งแล้วจะฟื้นคืนสภาพได้อย่างไร และอาจคิดว่าภาวะเช่นนี้เกิดจากความชรา คนแก่จะทำให้กลับมาหนุ่มได้อย่างไร นับเป็นความคิดแบบวิทยาศาสตร์จักรกล ในความเป็นจริง มีรายงานทางวิชาการจำนวนมาก บ่งชี้ว่าภาวะหลอดเลือดแข็งไม่ได้มีสาเหตุจากความชราภาพ และสามารถฟื้นคืนสภาพได้ แต่แพทย์กระแสหลักส่วนใหญ่ยังยึดติดในกรอบความคิดแบบเดิม จึงมักไม่ไปค้นหาข้อมูลที่นอกกรอบความคิดของตน จึงไม่รู้ว่ามี และมักเชื่อว่าไม่มีข้อมูลเพียงพอ เป็นไปดังที่กล่าวว่า ไม่รู้ว่ามี (หรือเชื่อว่ามี) จึงคิดว่าไม่มี การรักษาโรคนี้ที่ต้นเหตุเพื่อให้หลอดเลือดฟื้นคืนสภาพจึงไม่ทำกัน รักษาแต่ปลายเหตุเสียส่วนใหญ่

ใช้ยาเป็นหลัก (Pharmaceutical based)
นอกจากรักษาที่ปลายเหตุแล้ว การรักษาส่วนใหญ่ใช้ยาเป็นหลัก นับเป็นความเชื่อโดยทั่วไป ทั้งประชาชนหรือผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาที่มีทัศนะว่าเจ็บป่วยอะไร ก็ใช้ยารักษาได้ พร้อมกับคาดหวังว่ามียาดีที่เปรียบเสมือนกระสุนวิเศษ ที่ยิงนัดเดียวแล้วสามารถทำลายโรคได้หมด กล่าวง่ายๆ คือ ป่วยเป็นอะไรไม่ว่าเล็กน้อยหรือมาก ก็ใช้ยา มิติอื่นๆ เช่น โภชนาการถูกนำมาใช้น้อยมาก แม้จะเริ่มใช้กันบ้างก็ตาม หากย้อนสู่อดีต 2000 กว่าปี ฮิปโปเครติส (Hippocrates) กล่าวว่า อาหารคือยา ยาคืออาหาร ซึ่งเป็นจริงจวบจนปัจจุบัน แต่ถูกนำมาใช้น้อยมาก บางครั้งก็ยังเข้าใจผิดดังเช่น ตีค่าว่าวิตามินคือยา และนำมาใช้อย่างยา ที่จริงวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ คืออาหาร ควรใช้หรือได้รับอย่างอาหาร การบำบัดรักษาการเจ็บป่วยนั้นมีมีบริบทอื่นๆ มากกว่ายานัก แต่การแพทย์กระแสหลักนำมาใช้น้อยมาก การที่ใช้ยามากมีหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ บริษัทยา ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่มีกลยุทธการตลาดที่ลึกซึ้งแยบยล สามารถผูกใจหมอได้เกือบทั้งหมด มีทั้งของขวัญทั้งให้ข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนยา ให้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับยาที่มีสรรพคุณเลิศต่างๆ ถ้าขาดข้อมูลเหล่านี้ แพทย์ก็ใช้ยาไม่ได้ แต่ผู้ได้ประโยชน์มากคือ บริษัทยา  มีการสนับสนุน (sponsor) การประชุมสัมมนาหรือกิจกรรมอื่นๆ ทางวิชาการ โดยบริษัทยาข้ามชาติต่างๆ ประเด็นสำคัญคือการใช้ยารักษาโรคนั้น เป็นวิธีการที่สะดวกกว่าวิธีการอื่นๆ และไม่ต้องเสียเวลา แพทย์จึงนิยม ผู้ป่วยก็ชอบ เพราะศรัทธาในยา หรือในวิทยาศาสตร์ (จักรกล) นั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารเสริม วิตามินต่างๆ สารต้านอนุมูลอิสระ หรือน้ำมันปลา ซึ่งไม่มีลิขสิทธิ์ บริษัทยาจึงไม่เสนอข้อมูลให้แพทย์ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลการทดสอบและวิจัยสนับสนุนคุณประโยชน์มากมาย โรงเรียนแพทย์ก็ไม่สอน แพทย์ก็เลยใช้เสริมไม่เป็น ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่กัน

ตรวจไม่พบโรค แปลว่าไม่มีโรค?
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยโรค จะใช้เทคโนโลยีอย่างสูง โรคบางโรคสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่เป็นเมื่อแรกเริ่ม แต่ส่วนใหญ่แล้วยังไม่สามารถทำได้โดยเฉพาะมะเร็งส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือทางห้องปฏิบัติการ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า การวินิจฉัยมีขีดความสามารถสูง จึงทำให้ประชาชนคาดหวังการวินิจฉัยไว้สูง โดยคิดว่าเมื่อตรวจทางการแพทย์แล้วเป็นโรคอะไรก็รู้ได้ ประกอบกับทางการสาธารณสุขสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคเป็นประจำ ทั้งยังได้แนะนำกันมานานว่าเป็นอะไรแม้เล็กน้อยก็ให้ไปหาแพทย์ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้เกิดทัศนะสรุปว่า เมื่อไปตรวจโรคแล้วไม่พบโรค แปลว่า ไม่มีโรค ฉะนั้น เมื่อไปตรวจโรคแล้วไม่พบโรคก็สบายใจ ยังใช้ชีวิตมีวิถีชีวิตดังเดิม ในความเป็นจริง โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดแข็ง กว่าโรคจะทำให้เกิดอาการหรือตรวจพบนั้น ใช้เวลายาวนานนับสิบปี ความเข้าใจหรือความสบายใจที่เมื่อตรวจแล้วไม่สามารถค้นพบโรคได้แปลว่าไม่มีโรคจึง ไม่ถูกต้อง กับทั้งเป็นผลเสีย ทำให้ละเลยการป้องกัน ไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ถูกต้อง ทางที่ดีแม้ตรวจไม่พบโรคหรือไม่มีอาการอะไรก็ต้องป้องกันไว้ก่อนเสมอ

ชื่นชมกับการตรวจค้นหาโรคระยะเริ่มแรก (Early detection)
ด้วยความชื่นชอบกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนส่วนใหญ่ทำให้เชื่อมั่นในวิธีการประกอบกับการตรวจโรคด้วยขบวนการดังกล่าว สามารถตรวจหาโรคในระยะแรกเริ่มได้ตั้งแต่เป็นน้อยๆ เช่น การตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยการถ่ายภาพรังสีแมมโมแกรม (mammogram) สามารถค้นหามะเร็งที่มีขนาดไม่กี่มิลลิเมตรได้ หรือตรวจอัลตราซาวนด์ตับก็เช่นเดียวกัน การถ่ายภาพรังสีทรวงอกก็สามารถพบก้อนเนื้อเล็กๆ กว่าเซนติเมตรได้ แต่ในความเป็นจริงจะมีสักกี่รายที่มีโอกาสได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ยังเป็นโรคในระยะต้นๆ แม้แต่การถ่ายภายรังสีทรวงอกเป็นประจำทุก 6 เดือนก็ยังไม่สามารถพบมะเร็งปอดที่มีขนาดเล็ก เช่น ครึ่งเซนติเมตรได้ทัน เพราะเมื่อตรวจพบแล้วก็หมายความว่ามะเร็งได้เกิดขึ้นแล้ว แม้การรักษามะเร็งที่มีขนาดเล็กจะได้ผลดีแต่ไม่ใช่ทุกราย ในความเป็นจริงจากประสบการณ์ของนายแพทย์ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ตลอดสี่สิบกว่าปี ได้ตรวจภาพรังสีทรวงอกนับเป็นหมื่นเป็นแสนราย จะพบมะเร็งปอดขนาดเล็กประมาณ 1-2 ซม. นั้นน้อยมากเพียงไม่เกิน 3-4 ราย การค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรกจึงไม่ใช่คำตอบที่ควรพอใจ เพราะมีข้อเสียทำให้ละเลยมิติที่สำคัญกว่าคือ การป้องกัน แม้ตรวจไม่พบโรคก็ต้องป้องกัน การพบโรคระยะแรกย่อมดีต่อการรักษาแต่ไม่ดีเท่าการป้องกัน

ความศรัทธาอย่างมากต่อการแพทย์กระแสหลัก
ด้วยปัจจัยอันหลากหลายที่มากไปด้วยเทคโนโลยีได้ทำให้สร้างภาพลักษณ์ของการแพทย์กระแสหลักได้เป็นอย่างดี ขีดความสามารถที่มีสูงทำให้การรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีมาก มิติต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งแพทย์ ผู้ป่วยและประชาชน โดยเฉพาะในวงการแพทย์ที่ลงลึกลงไปในสาขาวิชาย่อย (subspecialty) ทำให้มีองค์ความรู้อย่างสูง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งย่อมมาถึงทางตัน หลักการแยกส่วนย่อยส่วนทำให้เรียนรู้ได้ลึก แต่ขาดการเชื่อมโยงและที่สำคัญทำให้เกิดความเชื่อมั่นสูง เกิดอีโก้ พฤติกรรมยึดมั่นถือมั่นไม่รับฟังข้อมูลอื่นที่นอกเหนือไปจากที่ตนยึดถือโดยไม่ถือว่ามีความสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไม่เปิดกรอบความคิดรับข้อมูลและองค์ความรู้อื่น ที่จริงวิชาแพทยศาสตร์นั้นมีหลากหลาย การแพทย์อายุรเวท การแพทย์จีน รวมทั้งองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วิชาเกี่ยวกับจิต พลังปราณโฮมีโอพาธี และแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เหล่านี้มีสาระและเป็นประโยชน์ หากความศรัทธาต่อการแพทย์กระแสหลักมีมากจนทำให้ไม่สนใจการแพทย์ในรูปแบบอื่นแล้วละก็ จะเป็นผลเสียอย่างแน่นอน การเปิดกรอบความคิด การรับรู้ให้กว้างน่าจะยังประโยชน์มากกว่าโทษ การบูรณาการองค์ความรู้อันหลากหลายย่อมส่งเสริมให้การแพทย์กระแสหลักปรับเป็นการแพทย์องค์รวม จะยังประโยชน์เป็นอนันต์

นอกจากการศรัทธาในการแพทย์กระแสหลักหรือในวิชาการที่ตนเองรู้ก็มักจะตีกรอบว่าเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องและดีที่สุด ดังจะยกกรณีของวิตามิน แพทย์กระแสหลักยังยึดมั่นในขนาดที่กำหนดไว้ใน อาร์ดีเอ (RDA, Recommended Daily Allowance) ซึ่งเป็นการกำหนดขนาดของวิตามินชนิดต่างๆ ที่ร่างกายควรได้รับเพื่อป้องกันการเกิดโรคขาดวิตามินชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยยึดหลักว่าถ้าได้รับวิตามินขนาดที่แนะนำแล้วจะไม่เกิดโรคนั้นๆ แพทย์หรือประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยึดมั่นในตัวเลขขนาดวิตามินนั้นๆ และมักกล่าวว่า หากรับประทานอาหารครบห้าหมู่ก็จะได้วิตามินต่างๆ พอ รับประทานเสริมก็ไม่มีประโยชน์ จะขับออกทางปัสสาวะหมด บางท่านก็เหน็บแนมว่าทำให้ปัสสาวะมีราคาแพง หรือในกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินอี ก็กลัวว่าจะไปสะสมในร่างกายแล้วเป็นอันตราย นี่เป็นความเข้าใจผิดตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน เพราะวิตามินมีคุณค่าและคุณสมบัติมากกว่าเป็นแค่ป้องกันโรคขาดวิตามิน แต่มีหน้าที่ทำให้ร่างกาย อวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ วิตามินเป็นอาหารขนาดที่ควรได้รับจึงไม่ควรเข้มงวด เช่นยา ความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และการแพทย์เอง ชี้ชัดว่า ควรได้รับสูงกว่าที่กำหนดไว้เก่าๆ การที่แพทย์ออกมาต่อต้านการใช้วิตามินที่มีขนาดสูงกว่าเดิมหรือการใช้เสริม จึงเป็นความรู้ที่ล้าสมัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น