วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เจ็บป่วยไม่มีความหมาย หากเข้าใจการป้องกัน ตอนที่ 2



สุขภาพคือการป้องกันโรค
หากเรายกเอาคำจำกัดความของสุขภาพออกไปก่อน แล้วมาดูว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการในการดำเนินชีวิตมากที่สุดคืออะไร จะพบว่าเราอยากให้ร่างกายของเราทำหน้าที่ดีที่สุด ทำกิจกรรมการงานที่พึงกระทำได้ ไม่เจ็บปวดอ่อนล้าเหนื่อยหน่าย มีความคิด ความจำดี มีความสุขสดใสและแข็งแรง ทนสภาพได้ดีพอควร กินได้ นอนหลับ ขับถ่ายดี และดำรงชีวิตในสังคมได้ดี ในภาพรวม คือ มีความสุขในการเป็นอยู่แต่ละวัน สบายดี (wellness) ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคุณภาพของ การมีสุขภาพ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เข้าได้กับคำจำกัดความของสุขภาพที่นิยมใช้กันมานาน กล่าวคือ สภาวะความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม มิได้หมายความแต่เพียงปราศจากโรคและความเจ็บป่วยเท่านั้น

หรือมีทัศนะต่อสุขภาพสมัยใหม่ตามตะวันตกที่นิยามกันเมื่อไม่นานมานี้ว่า สุขภาพมี 4 มิติ คือ มีสุขภาพของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ นับเป็นนิยามที่ครอบคลุมได้ดีน่าจะสมบูรณ์แบบที่สุด แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า จะมีวิธีการอย่างไรจึงจะทำให้ได้ตามนั้น เพราะเมื่อมีวัตถุประสงค์ชัดแล้วสิ่งสำคัญคือวิธีการหรือขบวนการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายนั้น เช่น สุขภาพของจิตวิญญาณ จะมีวิธีสร้างได้อย่างไร

ตามข้อกำหนดของสุขภาพที่กล่าวมาข้างต้นอาจถูกต้องสมบูรณ์แบบ แต่อาจไม่ถูกทั้งหมด เพราะคนที่มีสุขภาพแม้ไม่มีอาการหรือสัญญาณปรากฏ แต่อาจมีโรคซ่อมอยู่หรือการเสื่อมสภาพที่ยังไม่ปรากฏอาการซ่อนอยู่ได้ คำจำกัดความของสุขภาพจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าเบื้องลึกแล้วมีสุขภาพจริงๆ เพราะโรคหลายชนิด เช่น มะเร็งและโรคหลอดเลือดแข็งนั้น ใช้เวลานานนับเป็นสิบๆ ปี กว่าจะตรวจพบหรือมีอาการปรากฏ แต่ได้บ่มฟักตัวช่อนอยู่ บุคคลที่เรียกว่ามีสุขภาพ อาจไม่ปราศจากโรคอย่างแท้จริง จะเชื่อได้อย่างไรว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหรือภาวะหลอดเลือดแข็งซ่อมอยู่

มาตรการการป้องกันโรคที่เป็นกันบ่อยๆ ซึ่งอาจเกิดกับทุกคนเมื่อมีอายุยาวขึ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันภาวะการเสื่อมสภาพของร่างกายหรือภาวะต่างๆ ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จึงควรดำเนินการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ ที่จริงเราสามารถป้องกันโรคได้เกือบทุกโรค โรคที่สำคัญมีไม่กี่โรคนั้น ควรจะป้องกันอย่างเต็มที่ เช่น โรคมะเร็ง หลอดเลือดแข็ง (หัวใจ สมองฯ) กระดูกบาง ข้อเสื่อม เบาหวาน ต้อกระจก เป็นต้น เกี่ยวกับฟันนั้น จำเป็นด้วยหรือที่ฟันจะค่อยๆ หลุดจากปาก เมื่อมีอายุมากขึ้น

การมีสุขภาพนั้นควรรวมถึงการป้องกันโรค (โดยเฉพาะที่ซ่อมอยู่) ด้วย เพราะโรคต่างๆ มากโรคที่ระยะซ่อนตัวโดยไม่มีอาการนั้น การตรวจมากวิธีก็ยังตรวจไม่พบโรค หนทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือทำให้มีสุขภาพ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน

ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีบางคนนั้น ดูอ่อนวัย กระฉับกระเฉง ทั้งทรงสภาพและสมรรถนะที่เยาว์วัยกว่าอายุ เช่น อายุ 70 ปี แต่มีพละกำลังและชีวิตชีวา เหมือนอายุ 40-50 ปี ความเยาว์วัยจึงเป็นผลพวงที่ได้จากการมีสุขภาพและผลสรุปสุดท้ายของสุขภาพคือการมีอายุยืนยาวด้วย การแพทย์แผนปัจจุบันมีทัศนะต่อสุขภาพอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับของการมีสุขภาพของบุคคลนั้นในขณะนั้นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญของสุขภาพที่ทำให้เกิดความเยาว์วัย หรือป้องกันโรคอย่างจริงจังที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือความมีอายุยืนยาวแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกรอบความคิดได้ถูกกำหนดไว้เช่นนั้น

การป้องกันโรค (เวชศาสตร์ป้องกัน)
ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยอมรับว่าเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือเมื่อแก่ เขาจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีร่างกายเสื่อมโทรม แล้วเกิดโรคเสื่อมสภาพเรื้อรัง ไม่โรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรค เช่น โรคหัวใจโคโรนารี่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (storke) ข้อเสื่อม ความดันโลหิตสูง ฟันค่อยๆ หลุดจนหมดปาก และต้อกระจก และหวังพึ่งแพทย์แผนปัจจุบันหรือยา เมื่อเกิดโรคเหล่านี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดเข้าจริงๆ เป็นที่น่าเสียใจที่พบว่าการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพที่ช่วยได้ไม่มากนัก แน่นอนหลายรายที่ช่วยได้ เช่น หายขาดจากมะเร็ง หรือได้รับการผ่าตัดบายพาส (bypass surgery) เพื่อให้เลือดไหลเบี่ยงจุดตีบตันไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ แต่มีมากรายกว่าที่รักษาไม่ได้ผลดี หรือตายไปก่อนที่จะช่วยได้ทัน ฉะนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ จึงควรทำและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ อีกประการหนึ่ง การป้องกันโรคเหล่านี้ต้องใช้ช่วงเวลาที่ยาวนานติดต่อกันจึงจะได้ผล

การป้องกันโรคในระบบการแพทย์ปัจจุบัน
เป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่า การสาธารณสุข การสุขาภิบาลของประเทศเราได้เจริญก้าวหน้าไปมาก สามารถป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ดี นับเป็นการป้องกันโรคระดับชุมชนที่ได้ผล ในส่วนบุคคลระบบสาธารณสุขและตัวแพทย์เองแนะนำและชี้ชวนให้ประชาชนมาตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อที่จะได้รักษาสถานภาพของการมีสุขภาพไว้ เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้วเราพอสรุปได้ว่า การแนะนำเช่นนี้เป็นความพยายามอย่างธรรมดาที่จะค้นหาโรคให้ได้แต่เนิ่นๆ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง ถ่ายภาพรังสีทรวงอก ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์ (mammogram) ตรวจแพป สเมียร์ (Pap smear) เพื่อหามะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อจะดูว่ามีโรคซ่อนอยู่ในร่างกายหรือไม่ การตรวจเช่นนี้มีอะไรบ้างที่เป็นการป้องกันโรค? แต่ที่แน่ชัดก็คือเป็นความพยายามที่จะค้นหาโรคให้เร็วหรือระยะแรกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อค้นหาโรคที่ซ่อมอยู่ในตัวเมื่อยังไม่มีอาการได้ ขบวนการเช่นนี้หาใช่การป้องกันโรคแต่อย่างใด เพราะว่าเมื่อตรวจพบนั้นโรคก็ได้เกิดขึ้นเสียแล้ว การแพทย์ในปัจจุบันจึงเป็นการไปแก้ปัญหาในภายหลัง แน่นอนการค้นพบโรคได้ไวที่สุดเท่าใดยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษามากเท่านั้น เราน่าจะมีวิธีการป้องกันที่ดีกว่านี้ เป็นวิธีการเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคและภาวะเสื่อมสภาพให้ได้ ก่อนที่จะเกิดขึ้นในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น อีกประการหนึ่ง บุคลลที่ตรวจร่างกายแล้วปกติ หรือผู้ที่ไม่มีอาการอะไรจำนวนหนึ่ง อยู่ๆ อาจจะตายจากโรคหัวใจ หรือเป็นสโตรค หรือพบว่าเป็นมะเร็งอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน

นอกจากนี้ การแนะนำให้ออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ เช่น เต้นแอโรบิค วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน ฯลฯ นั้น เป็นการมุ่งเน้นความแข็งแกร่งให้ร่างกายโดยไม่คำนึงถึงผลเสีย และยังสร้างความสำนึกให้ดูเหมือนว่ายิ่งออกกำลังมาก ยิ่งวิ่งได้มากยิ่งดี เปรียบเหมือนความผกผันเป็นเส้นตรง ทำให้ผู้ออกกำลังกายเป็นประจำคิดว่าตัวเองปลอดจากโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายคนเสียชีวิตจากมะเร็งและโรคหัวใจ ดูตัวอย่างอดีตประธานาธิบดีคลินตันแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ออกกำลังกายวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นประจำมานาน ยังเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบจนต้องผ่าตัดบายพาส

เกี่ยวกับอาหารก็เช่นกัน หน่วยงานทางสาธารณสุขได้แนะนำให้บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ผักผลไม้ และเกลือแร่ จนประชาชนท่องจำได้ มันกลับทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าทำแค่นี้ก็สร้างสุขภาพได้แล้ว ถึงรับประทานเสริมก็ไม่มีประโยชน์เพราะจะขับออกมาทางปัสสาวะหมด ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายอย่างนั้น หัวข้อการแนะนำถูกต้องแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม แต่ต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้

การป้องกันโรคที่พึงประสงค์
การป้องกันโรคที่พึงประสงค์ คือการป้องกันโรคที่แท้จริง นอกจากจะป้องกันไม่ให้โรคหรือเกิดโรคได้ในอนาคตแล้ว ยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย การที่รู้สึกมีสภาพ สบายดี นั้น มิได้หมายความว่าไม่มีโรค ในมุมมองนี้ ได้ให้ความสำคัญของการเกิดหรืออาจจะเกิดโรคเป็นหลักมากกว่าการเอาสุขภาพเป็นหลักแต่อย่างเดียว เพราะอย่างไรเสียได้ถือว่าการเสริมสร้างสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เราคงปรารถนาที่จะป้องกันโรคทุกโรค แต่เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปได้ง่ายมีผลดีสูงสุด เราคงต้องเน้นโรคที่เกิดได้บ่อยและมีความรุนแรงก่อน ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีคือ โรคที่ทำให้เราเสียชีวิตได้บ่อยที่สุดของคนไทยในอันดับต้นๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอันดับหลังๆ คือโรคติดเชื้อในระบบต่างๆ โรค 3 อันดับแรกเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ (degenerative disease) การเสื่อมสภาพนั้นเกิดได้จากการมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้มันเสื่อมสภาพ เช่น ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เสียสมดุล การอักเสบ และหรือ เกิดจากการใช้งานมาก การป้องกันโรคไม่พึงประสงค์นั้น ต้องลงไปในรายละเอียดของแต่ละโรคและทำการป้องกันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้จะดีที่สุด โรคต่างๆ เหล่านี้แม้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังสามารถเข้าไปช่วยบำบัดให้ทุเลาลง ไม่ลุกลามมากขึ้น หรือคืนสภาพสู่ปกติได้อีกด้วย การป้องกันโรคจึงหมายรวมถึงการบำบัดรักษาไม่ให้โรคลุกลาม และให้คืนสู่สภาพปกติ โรคเหล่านี้ไม่ได้เกิดจาการใช้งานมากหรืออายุมาก แต่เกิดจากการอักเสบ และหรือ ขาดสารอาหารเป็นเหตุสำคัญ

เมื่อเราสามารถป้องกันหรือขจัดโรคที่ซ่อนอยู่ได้อย่างดีแล้ว จึงจะเรียกได้ว่า เรามีสุขภาพอย่างแท้จริง นี่คือมุมมองต่อการป้องกันโรคหรือเวชศาสตร์ป้องกันแนวใหม่ ที่จะนำเสนอและเชื่อว่าวิธีนี้ยังจะทำให้มีสุขภาพ ความเยาว์วัยและอายุยืนยาวอีกด้วย

ส่วนหลักการและวิธีการนั้นมุ่งเน้นไปที่การบำรุงรักษาดุลยภาพในระดับอณูและเซลล์เป็นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพ และความเสื่อมสภาพที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ นั้นเกิดจากการเสียสมดุลที่สำคัญมาจากการขาดสารอาหารและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องมากกว่าความชราหรือการใช้งานมาก

อนุมูลอิสระ (Free Radicals)
ชีวิตดำรงอยู่ได้และดำเนินไป โดยมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดสมดุลทั้งภายในของชีวิตเองและกับสิ่งแวดล้อมภายนอกจึงมีสุขภาพ เมื่อเสียสมดุลก็เกิดโรค เราเรียกขบวนการนี้ว่า ขบวนการปรับแต่งชีวภาพ ชีวิตใช้สารอาหารที่รับการย่อยปรับแต่งจากขบวนการต่างๆ น้ำและออกซิเจนที่หายใจเข้าไป เป็นองค์ประกอบสำคัญในการปรับเปลี่ยน มีการรับสิ่งเหล่านี้ นำไปใช้เพื่อสร้างเสริมเป็นพลังงาน และถ่ายเทของเสียหรือสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป นั่นคือ มีการสร้างสรรค์ ทรงสภาพ-บำรุงรักษา และทำลาย สืบเนื่องโดยตลอดไม่มีหยุด เป็นขบวนการปรับแต่งชีวภาพที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์ทุกๆ เซลล์ทั่วร่างกาย ซึ่งปฏิกิริยาทางเคมีจะเกิดขึ้นประมาณ 6 ล้านล้านครั้งต่อวินาทีต่อเซลล์ กับเซลล์ 60-100 ล้านล้านเซลล์ ที่มีทั้งหมดของร่างกายมนุษย์

ขบวนการปรับแต่งชีวภาพนี้ ส่วนใหญ่คือการสันดาปซึ่งใช้ออกซิเจนทำปฏิกิริยา เป็นองค์ประกอบสำคัญ เรียกตามภาษาวิทยาศาสตร์ว่า ออกซิเดชั่น (oxidation) ขบวนการนี้ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ร่างกายใช้ออกซิเจนที่มีอยู่ในบรรยากาศที่มีปริมาณและองค์ประกอบเช่น ก๊าซอื่นๆ ในอัตราส่วนที่คงที่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องซื้อหา เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยออกซิเจน นำออกซิเจนไปประกอบกับสารอาหารและอื่นๆ เรียกว่า แอโรบิคเมตาบอลิสซึ่ม (aerobic metabolism) คือขบวนการที่ปรับเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็นพลังงาน ออกซิเจนที่เราหายใจสู่ปอดจะแทรกผ่านผนังถุงลมแล้วถูกนำพาโดยฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงทุกเซลล์ทั่วร่างกาย เมื่อร่างกายใช้ออกซิเจน ก็จะเกิดผลผลิตข้างเคียง เรียกว่า รีแอ๊คตีฟออกซิเจนสเปซีส์ (reactive oxygen species, ROS) คือสายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยาชนิดต่างๆ เหมือนกับการเผาไหม้ฟืนมีควันเกิดขึ้น นี่คือ ออกซิเจนที่มีอนุมูลอิสระ (free radicals) ซึ่งจะเกิดได้มากน้อยต่างกันไป ออกซิเจนที่มีอนุมูลอิสระนั้นอันตราย มันมีปฏิกิริยาโดยตลอด ที่เป็นเช่นนี้เพราะอิเล็กตรอน (electron) ที่อยู่วงนอกสุดนั้น ไม่มีคู่จับ (unpaired electron) โดยปกติอะตอม (atom) ของธาตุใดๆ นั้นมีโปรตอน (proton) และนิวตรอน (neutron) ประกอบกับเป็นนิวเคลียส (nucleus) มีอิเล็กตรอนเป็นคู่ๆ โคจรเป็นวงแหวนอยู่รอบๆ เมื่ออิเล็กตรอนไม่มีคู่ซึ่งอยู่วงแหวนนอกสุด มันจะไม่สงบ ต้องการจับคู่ มันจึงขโมยอิเล็กตรอนหรืออะตอมไฮโดรเจนทั้งหมดที่อยู่ใกล้เคียง ตัวมันจึงมีอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดรูที่ผนังเซลล์ ไปเปลี่ยนแปลงภาวะทางเคมีของไมโตคอนเดรีย (mitochondria – คือ องค์ประกอบภายในเซลล์ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานแก่เซลล์) หรือไปทำร้ายดีเอนเอ (DNA) ให้แตกออกจากนิวเคลียสของเซลล์ อันตรายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเล็กน้อย แต่เป็นส่วนสำคัญเนื่องจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระจะเกิดขึ้นคล้ายเป็นลูกโซ่เพราะเมื่อมันไปแย่งอิเล็กตรอน อะตอมตัวนั้นก็จะขาดอิเล็กตรอน มันจึงไปแย่งตัวอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ อาจมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นเป็นล้านๆ ตัวในแต่ละวินาทีทั่วร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น